
ความมั่งคั่งรูปแบบใหม่
Naoto Fukasawaนักออกแบบผลิตภัณฑ์
ยิ่งเราให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นและประสิทธิภาพมากเท่าไร เรายิ่งสูญเสียความมั่งคั่งไปมากเท่านั้น
ในยุคที่อิ่มตัวด้วยความมั่งคั่งทางวัตถุ
นาโอโตะ ฟุคาซาว่า เป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เขาได้มีส่วนร่วมลงมือพัฒนาผลิตภัณฑ์มากมาย รวมทั้งโครงการต่าง ๆ ที่หลากหลายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ในฐานะที่เป็นสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาของ MUJI
ฟุคาซาว่ามีชื่อเสียงในด้านการออกแบบที่ผสมผสานฟังก์ชั่นที่เพียงพอเข้ากับรูปแบบที่พอเพียงอย่างแท้จริง ไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมและวัตถุเท่านั้นที่เขาคำนึงถึง แต่เขายังขวนขวายที่จะสังเกตพื้นที่ที่ความสัมพันธ์เช่นนั้นก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ซึ่งในกระบวนการนี้เองที่เป็นจุดกำเนิดของผลิตภัณฑ์ของเขาที่มี tatazumai (คุณลักษณะของวัตถุ) ที่เรียบง่ายและน้อยชิ้น
ฟุคาซาว่ามองแนวคิด Compact Life ที่นำเสนอโดย MUJI อย่างไรบ้าง “แนวคิดของแบรนด์ MUJI
เริ่มต้นขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็วและผู้คนต่างก็หลงใหลไปกับความมั่งคั่งทางวัตถุ ดังนั้นใน แนวคิดดั้งเดิมจึงมีองค์ประกอบที่ชัดเจนมากเกี่ยวกับการตอบสนองต่อความต้องการในแต่ละวันของคนหนึ่ง ๆ นี่เป็นทัศนคติที่เกิดขึ้นเพราะผู้คนรู้สึกอิ่มตัวกับความมั่งคั่งทางวัตถุ และเหตุผลนี้ [แนวคิด Compact Life] ก็แสดงให้เห็นถึงการกลับสู่ความดั้งเดิมของเรา ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าแนวคิดนี้ครอบคลุมทิศทางที่สังคมทุกวันนี้กำลังเคลื่อนที่ไปได้อย่างถูกต้อง”
จัดเก็บเหมือนเป็นผนัง ฟังก์ชั่นเหมือนเป็นส่วนเพิ่มเติมของร่างกาย
สภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ค่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในขณะที่บ้านและเครื่องใช้ภายในครัวเรือนได้ถูกปรับปรุงและเทคโนโลยีสารสนเทศได้ถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ ฟุคาซาว่าเปรียบประเมินการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็น “ผนังและร่างกาย” เขากล่าวว่าเครื่องมือส่วนมากที่เราใช้อยู่ทุกวันโดยไม่ได้คิดนั้นมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปเป็นส่วนเพิ่มเติมของผนังของเราหรือไม่ก็ร่างกายของเราเอง เขาอธิบายว่า:
“ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของสิ่งนี้ก็คือโทรทัศน์ ทีวีเก่า ๆ จะเป็นระบบจอที่ใช้หลอดภาพซึ่งทำให้กินพื้นที่ใช้สอยมาก มันถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นจอแสดงผลแบบ LCD ที่มีขนาดบางมาก และปัจจุบันนี้ก็สามารถยึดทีวีติดกับผนังหรือแขวนไว้บนนั้นได้ ในทางกลับกัน ปัจจุบันนี้เราก็สามารถดูวิดีโอบนสมาร์ทโฟนขนาดเท่าฝ่ามือและแท็บเล็ตได้แล้ว อย่างหลังคือตัวอย่างของวัตถุที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นส่วนเพิ่มเติมของร่างกายของเรา”
การพิจารณาพื้นที่ใช้สอยของเราทุกวันนี้ด้วยหลักเช่นนี้ทำให้เรามองเห็นว่ามีวัตถุมากมายเพียงใดที่ตรงตามคำอธิบายของเขา — เครื่องปรับอากาศและระบบแสงสว่างแบบยึดติดอยู่บนเพดาน เครื่องใช้ในครัวที่จัดเก็บไว้ในตู้บนผนัง เป็นต้น
“เรากำลังค่อย ๆ ก้าวอย่างต่อเนื่องไปสู่โลกที่รูปแบบจะหายไปและจะเหลือเพียงฟังก์ชั่นเท่านั้น สิ่งต่าง ๆ จะยังคงเคลื่อนที่ไปในทิศทางนี้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตเราอาจอยู่อาศัยโดยปราศจากวัตถุใด ๆ เลยก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ยิ่งเราให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นและประสิทธิภาพมากเท่าไร เรายิ่งสูญเสียความมั่งคั่งไปมากเท่านั้น ในเมื่อมาถึงจุดนี้ เราจะมองหาวัตถุต่าง ๆ ที่ไม่สามารถจัดเก็บมันไว้เป็นส่วนเพิ่มเติมของผนังหรือของร่างกายเรา”
ฟุคาซาว่ากล่าวว่าในอดีตตอนที่เขาออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ผลิตในยุโรปและอเมริกาเหนือนั้น เขาชื่นชมวิธีการของพวกเขาในการออกแบบ ซึ่งรายละเอียดทุกอย่าง — ไม่ใช่เพียงแต่รูปแบบของชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์แบบเฉพาะเจาะจงเท่านั้น — ได้ถูกนำมาอภิปรายอย่างละเอียดถี่ถ้วน หากเป็นโต๊ะ อะไรจะนั่งบนโต๊ะนั้นบ้าง หากเป็นชั้นวางของ หนังสือประเภทไหนที่จะถูกเก็บไว้ในชั้นนั้น และจะถูกจัดเรียงไว้อย่างไร
การมุ่งเน้นเช่นนี้จะมองการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นหนึ่งอย่างของการออกแบบโดยรอบ เช่น การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการออกแบบพื้นที่ใช้สอยโดยรวม
บนการออกแบบโดยรอบ
“ผมเพิ่งวางโครงสร้างตู้เสื้อผ้าในบ้านของผมใหม่ ในกระบวนการนี้ ผมดูเสื้อแจ๊คเก็ตแต่ละตัวที่จะนำไปแขวนในตู้นั้นอย่างถี่ถ้วน ผมเลือกเฉพาะเสื้อแจ๊คเก็ตที่ดีที่สุดและเป็นตัวโปรดที่ผมชอบใส่ ผมเก็บไว้เพียงแค่ครึ่งหนึ่งจากทั้งหมดที่ผมมี และการทำเช่นนี้ทำให้ผมมีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น — ประมาณ 10 เซนติเมตรระหว่างไม้แขวนเสื้อแต่ละอัน ในการมองแวบแรก มันดูเหมือนว่าไม่มีอะไรมาอยู่ระหว่างเสื้อแจ๊คเก็ตของผม แต่จริง ๆ แล้วมันมีช่องว่างอยู่ตรงนั้น มันมีอยู่จริง ๆ ด้วยการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยเช่นนี้ ผมได้ออกแบบวิธีการใช้งานตู้เสื้อผ้าโดยรวมใหม่ทั้งหมด รวมถึงพื้นที่ที่มองไม่เห็นแต่เป็นช่องระบายที่ดีมาก”
ชีวิตที่ออกแบบมาอย่างดีไม่ใช่พียงแค่การครอบครองสิ่งของน้อยชิ้นหรือการจัดเรียงสิ่งต่าง ๆ และการจัดเก็บสิ่งเหล่านั้นอย่างดี สิ่งสำคัญคือการค้นหาสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่สามารถถูกจัดเก็บไว้เป็นส่วนเพิ่มเติมของผนังหรือของร่างกายของเราให้ได้ และนำสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นมาสู่การใช้งานในชีวิตประจำวันของเรา ตัวอย่างเช่น การสร้างความน่าสนใจให้กับความว่างเปล่าที่สวยงามของพื้นที่แห่งหนึ่งบนชั้นวางของ โดยการนำหินที่เก็บได้ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวหรือหินที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นจากนักแกะสลักชั้นยอดมาวางไว้ตรงนั้น พิพิธภัณฑ์งานพื้นบ้านญี่ปุ่น (Japan Folk Crafts Museum) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ฟุคาซาว่าทำงานเป็นผู้อำนวยการ ถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีในด้านนี้
“วัตถุที่เป็นปกติธรรมดาโดยแท้จริงแต่มีอายุแบบพอดีมักทำให้เราหลงใหลไปกับมัน มันเป็นเช่นนั้น ว่าไหมล่ะ วัตถุเหล่านี้มีความมั่งคั่งที่ตรงกันข้ามกับความมั่งคั่งทางวัตถุอย่างสิ้นเชิง และบางทีนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมมันถึงน่าหลงใหล ในขณะที่องค์ประกอบต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเราพัฒนาไปเป็นส่วนเพิ่มเติมของผนังหรือร่างกายของเรา แนวคิด Compact Life อธิบายถึงรูปแบบของพื้นที่ใช้สอยโดยรวมที่ส่วนตัวแล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของความหรูหรา”